เพื่อน ๆ หลายคนคงจะรู้จักกับ fast fashion มาบ้างแล้ว แต่อีกหลายคนก็ยังไม่รู้จัก ปัจจุบัน fast fashion เนี่ยมีให้เราทุกคนเห็นอยู่ตลอดตามร้านค้าหรือแอพลิเคชั่นสำหรับช็อปปิ้งเสื้อผ้า บ้างก็รู้ว่ามันคือ fast fashion บ้างก็ยังไม่รู้ สรุปแล้ว fast fashion คืออะไรกันแน่ แล้วมันมีข้อดีหรือข้อเสียอย่างไร พวกเรา Forus ได้หาข้อมูลมาให้แล้ว ไปอ่านกันเลย!
Fast Fashion คืออะไร?
Fast Fashion หรือจะเรียกว่า แฟชั่นรวดเร็ว ก็ได้เหมือนกัน หมายถึง แฟชั่นที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยผู้บริโภค Fast Fashion มีความคาดหวังในการเปลี่ยนแปลงของแฟชั่นอย่างต่อเนื่องและมีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกมาตอบสนองทันต่อความต้องการ ซึ่งประกอบไปด้วยอะไรบ้างนั้น มาดูกัน!
1) การตอบสนองที่รวดเร็ว หมายถึง ความสามารถในการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างรวดเร็ว เพื่อลดต้นทุนในการจัดเก็บสินค้าในคลังและเป็นการประหยัดต้นทุน
2) ระยะเวลา หมายถึง การจัดส่งเสื้อผ้าเข้าไปจำหน่ายในเวลาที่เร็วที่สุด โดยการทำให้ระยะเวลาในการจัดส่งสินค้าสั้นและรวดเร็วที่สุด
3) วงจรของสินค้าแฟชั่น หมายถึง กระแสแฟชั่นที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและตลอดเวลา
ในปัจจุบันมีเสื้อผ้าแฟชั่นมากมายที่เข้ามาแข่งขันและขยายสาขาในตลาดของไทย เพื่อน ๆ คงรู้จักและน่าจะเคยช็อปปิ้งกันมาบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ZARA, H&M, UNIQLO, TOPSHOP, PULL&BEAR โดยกลุ่มเป้าหมายของเสื้อผ้า Fast Fashion ได้แก่ กลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานนั่นเอง ซึ่งเหมาะสำหรับคนที่ตัดสินใจเร็ว ชอบราคาถูก และชอบการแต่งตัวเพื่อแสดงออกถึงความเป็นตัวเอง
Fast Fashion มาจากไหน?
มาทำความรู้จักกับคำว่า Fast Fashion กันเลยยย Fast Fashion เริ่มมาจากผู้ก่อตั้งแบรนด์ ZARA นักธุรกิจออกแบบเสื้อผ้าชาวสเปน Amancio Ortega เขาได้เปิดร้านของเขาขึ้นทางตอนเหนือของสเปนเป็นที่แรกในปี 1975 เขาเดินทางไปยังนิวยอร์กในปี 1990 เพื่อโปรโมทร้านค้าของเขากับนิตยสารชื่อดังอย่าง New York Times ซึ่งทางนิตยสารได้นิยามภารกิจของร้านด้วยคำว่า “Fast Fashion” คำนี้ผุดขึ้นมาครั้งแรกต่อสาธารณะเพราะภารกิจของร้าน Zara ตอนนั้นคือ เขาจะทำการผลิตเสื้อผ้าเซ็ตหนึ่ง ทั้งขั้นตอนการออกแบบและการผลิตจำหน่ายสู่ชั้นวางขายให้ได้ภายใน 15 วันเท่านั้นเอง
การโปรโมทนี้เมื่อแพร่กระจายออกไปทำให้เกิดเสียงฮือฮาในวงการแฟชั่นและประชาชนชาวอเมริกันอย่างมาก บวกกับในตอนนั้นคนอเมริกันกำลังมองหาเสื้อผ้าอินเทรนด์และราคาจับต้องได้บนห้าง และกระแสวัยรุ่นอย่าง Wet Seal, Express และ America Eagle ที่เริ่มแพร่กระจายเป็นวงกว้างทำให้เกิดความต้องการในตลาดเสื้อผ้ามากขึ้น การประกาศของร้าน Zara แบบนี้จึงถูกมองว่าเป็นผู้บุกเบิกอาณาจักร Fast Fashion ของอเมริกานั่นเอง
ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาวงการเสื้อผ้าและแฟชั่นเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โลกออนไลน์เข้ามาอยู่ในมือของผู้ผลิตและผู้บริโภคมากขึ้น การช็อปปิ้งจึงกลายเป็นพฤติกรรมเสพติดของคนบางกลุ่ม รวมไปถึงกระแส Soft-power ก็ได้คืบคลานเข้ามาเรื่อย ๆ ทำให้การตลาดเกิด Over Demand หรือการบริโภคที่มากเกินความจำเป็นในราคาที่ถูกลง และเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น
ข้อดีของ Fast Fashion
Fast Fashion มีการผลิตและจำหน่ายเสื้อผ้าตามกระแสนิยมในสังคม มีการเน้นขายในปริมาณมาก และราคาก็ถูก ยิ่งเมื่อตลาดออนไลน์และ E-Commerce ได้รับความนิยมมากขึ้น จะทำให้ผู้บริโภคอย่างพวกเราสามารถช็อปปิ้งเสื้อผ้าได้ง่ายและบ่อยกว่าเดิมด้วย ด้วยข้อดีของมันจึงทำให้ลูกค้าหลายกลุ่มทั้งวันรุ่น ผู้ใหญ่วัยทำงาน สามารถซื้อด้วยราคาที่ไม่แพงเกินไปและยังได้เสื้อผ้าเก๋ ๆ ด้วย
ข้อเสียของ Fast Fashion
มีข้อดีแล้ว ก็ต้องมีข้อเสียเช่นกัน เมื่อความต้องการใน Fast Fashion มีมากขึ้น การผลิตเสื้อผ้าในแต่ละปีนั้นจึงมีการผลิตในปริมาณที่มากเกินไป การผลิตเสื้อผ้าใยฝ้ายหนึ่งตัวใช้น้ำ 700 แกลลอนและใช้เวลากว่า 80 ปีที่การเดินทางของมันจะสิ้นสุดลง จึงทำให้เกิดมลพิษทางน้ำ ซึ่งมาจากโรงงานผลิตเสื้อผ้าที่มักปล่อยน้ำเสียที่เป็นพิษโดยไม่ผ่านการบำบัดลงสู่แหล่งน้ำโดยตรง รวมถึงการใช้สารเคมีเป็นส่วนประกอบในการผลิตเสื้อผ้า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศที่มาจากโรงงานอุตสาหกรรมเสื้อผ้า อีกทั้งยังเกิดภาวะแห้งแล้งหรือปัญหาดินเสื่อมสภาพในบางพื้นที่โดยมีสาเหตุมาจากการตัดไม้ทำลายป่า
หลังจากเพื่อน ๆ ได้รู้จัก fast fashion แล้ว ทุกคนก็คงจะรู้ว่า fast fashion ก็มีทั้งข้อดีที่เสื้อผ้าสวยและราคาถูก แต่ข้อเสียของมันก็คือทำลายสิ่งแวดล้อม เมื่อเพื่อน ๆ รู้แบบนี้ เราอาจช่วยกันแก้ปัญหาโดยการเลือกซื้อเสื้อผ้าผลิตมาจากวัสดุธรรมชาติ 100% รวมถึงเลือกซื้อเสื้อผ้าที่มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ซื้อเสื้อผ้ามือสอง หรือจะเป็นการ Reuse ก็ได้เช่นกัน เรียกได้ว่าเป็นการประหยัดเงินและรักษ์โลกไปในตัว ซึ่งพวกเรา Forus ก็ยังมีวิธีมาช่วยเพื่อน ๆ จัดการกับเสื้อผ้าในกรณีที่ซื้อมาแล้วแต่ได้ใส่แค่ไม่กี่ครั้ง ถ้าทิ้งไปก็กลายกองเป็นขยะทำลายสิ่งแวดล้อม ติดตามวิธีจัดการกับเสื้อผ้าอย่างสร้างสรรค์และมีประโยชน์ต่อได้ที่ Blog Forus ที่เดิมที่ประจำเลย!
เขียนบทความโดย C
ภาพโดย Jirut
อ้างอิง
https://www.springnews.co.th/spring-life/818490
http://dspace.bu.ac.th/bitstream/123456789/1897/1/kamontip_wank.pdf
Comments